การที่บุคคลใดได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทเป้าหมาย ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่มากพอ
ในการมีอำนาจควบคุมกิจการ โดยสัดส่วนการถือหุ้นที่จะทำให้ควบคุมบริษัทได้ คือ 25% 50% และ 75%
ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมกิจการ กฎหมายหลักทรัพย์กำหนดให้ผู้นั้น ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นรายอื่นที่เหลือทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสตัดสินใจว่า
ประสงค์จะถือหุ้นของกิจการต่อไปภายใต้การควบคุมและการบริหารงานของผู้ถือหุ้นรายใหม่หรือไม่ ?
ซึ่งหากผู้ถือหลักทรัพย์รายใด ไม่ประสงค์จะถือหลักทรัพย์ของกิจการต่อไป ผู้ถือหุ้นรายใหม่ก็จะต้องมีช่องทางในการเสนอซื้อหลักทรัพย์นั้นอย่างเป็นธรรม (fair exit and fair treatment)
อย่างไรก็ดี กฎหมายหลักทรัพย์ยังเอื้ออำนวยให้การควบรวมกิจการมีช่องทางดำเนินการได้โดยสะดวก (facilitating market for corporate control) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการบริษัท
และผู้บริหารของกิจการ ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ เช่น ในช่วงที่มีการทำคำเสนอซื้อ บริษัทจดทะเบียนจะต้องไม่ก่อหนี้ หรือยกเลิกสัญญาที่มีนัยสำคัญ เป็นต้น
การทำ Tender Offer แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Mandatory Tender Offer: เป็นการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในกรณีที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่ถือครองหุ้นจนถึง หรือข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ เช่น 25% 50% หรือ 75% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จากผู้ถือหุ้นทุกราย โดยหลักทรัพย์ที่ต้องรับซื้อเป็นหลักทรัพย์ที่มีหรือจะมีสิทธิออกเสียง เช่น หุ้น หุ้นบุริมสิทธิ และหลักทรัพย์แปลงสภาพ
- Voluntary Tender Offer: เป็นการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กรณีสมัครใจของผู้เสนอซื้อ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น หรืออำนาจในการควบคุมบริษัทมากขึ้น สามารถรวบรวมหุ้นในจำนวนมากได้โดยสะดวก และสามารถสร้างการเติบโตจากการ takeover บริษัทเป้าหมายอีกด้วย
ต้องทำอย่างไร ถ้ามีคนมาทำ tender offer หุ้นที่เราถืออยู่ ?
ผู้ที่ทำ Tender Offer ต้องมีระยะเวลารับซื้อหุ้นอย่างน้อย 25 วันทำการ แต่ไม่เกิน 45 วันทำการ ตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งในช่วงเวลานี้ ผู้ถือหุ้นจะมีเวลาตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอที่ได้รับ เช่น ราคารับซื้อและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เสนอ โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น
- แบบคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (แบบ 247-4): เอกสารนี้จะมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ข้อมูลผู้ทำคำเสนอซื้อ ข้อเสนอการซื้อหลักทรัพย์ ราคา เงื่อนไขต่าง ๆ แผนการดำเนินธุรกิจเมื่อผู้ทำคำเสนอซื้อเข้ามา แหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อหลักทรัพย์ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำคำเสนอซื้อกับกิจการ การยกเลิกเจตนาขาย เป็นต้น
- แบบรายงานความเห็นของกิจการเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (แบบ 250-2): เป็นเอกสารที่คณะกรรมการของบริษัทเป้าหมายจะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ Tender Offer ที่ได้รับ เพื่อให้ผู้ถือหลักทรัพย์ใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น ความเห็นว่าราคาเสนอซื้อเหมาะสมหรือไม่ ผู้ถือหุ้นควรเอาหุ้นมาขายให้กับผู้ทำคำเสนอซื้อหรือไม่ รวมทั้งการวิเคราะห์ ข้อดีและข้อเสียที่เกี่ยวข้อง ความสมเหตุสมผลของแผนธุรกิจ รวมทั้งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น เป็นต้น
- รายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (Independent Financial Advisor Report หรือ IFA Report): เป็นรายงานที่จัดทำโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งจะให้คำแนะนำและความคิดเห็นเกี่ยวกับ Tender Offer โดยเฉพาะด้านการเงินและความเหมาะสมของราคารับซื้อ ว่าผู้ถือหุ้นควรตอบรับหรือปฏิเสธคำเสนอซื้อหรือไม่ รวมถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจอื่น ๆ เช่น ความเป็นไปได้ของแผนงาน ประโยชน์หรือผลกระทบจากแผนงานเป็นต้น
